วัดพัฒนาราม

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด        

          วัดพัฒนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 87/1 ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2439 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2444 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 28.57 เมตร ยาว 35.30 เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.2551 ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 27 ไร่ 3 งาน  93 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 96 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 3 แปลง แปลงที่ 1  เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา   แปลงที่ 2  เนื้อที่ 2 ไร่   67 ตารางวา  โฉนดที่ดินเลขที่ 122   แปลงที่ 3  เนื้อที่ 29 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดอยู่ในตลาด ซึ่งชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่า ตลาดบ้านดอน ลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งวัดเป็นพื้นที่ราบ บริเวณวัดร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะต้นตะเคียนทอง อายุหลายสิบปี

          อาณาเขต        ทิศเหนือ          จดถนนพัฒนาราม

                                ทิศใต้              จดถนนหน้าเมือง

                                ทิศตะวันออก     จดถนนสาธารณะ

                                ทิศตะวันตก       จดคูเมืองเดิม

ประวัติความเป็นมา

          วัดพัฒนารามเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2439 โดยหลวงพ่อพัฒน์ นารโท เป็นผู้ชักชวนชาวบ้านหักร้างถางพง ที่บริเวณวัดเดิมซึ่งเป็นป่าทึบ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เสือ หมี ค่าง และงูพิษ จนไม่มีใครกล้าเข้าไปอยู่อาศัย แต่ท่านก็สามารถก่อสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ โรงอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอฉัน ในเนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา สำเร็จขึ้นได้ และได้ผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.2444 วัดนี้ตั้งอยู่ในตำบลตตลาด อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ 2 ชื่อ คือ "วัดใหม่" เนื่องจากเป็นวัดที่สร้างขึ้นหลังวัดอื่น ๆ ในย่านตลาดเมืองสุราษฎร์ธานี และคำว่า "วัดใหม่" หลวงพ่อพัฒน์ได้จารึกหลังพระกสิณ ซึ่งท่านได้สร้างขึ้นราว พ.ศ.2467 ปัจจุบันเป็นของหายากยิ่ง และอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า "วัดพัฒนาราม" ตั้งขึ้นหลังจากหลวงพ่อพัฒน์ท่านได้มรณภาพแล้ว เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ท่านที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา วัดพัฒนาราม ปรากฏหลักฐานตามศิลาจารึก ซึ่งหลวงพ่อพัฒน์ได้จัดทำไว้ดังต่อไปนี้

                 "พระพุทธศักราชล่วงแล้ว 2439 พรรษา ปีวอก อัฏฐศก เดือน 6 ท่านเจ้าอธิการพัฒน์ นารทะ ได้ชักชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาคิดก่อสร้างอารามนี้เมื่อปีจก

สัมฤทธิศก เดือน 6 ได้ยกอุโบสถจนสำเร็จ ครั้งถึงปีฉลู ตรีศก เดือน 6 แรม 14 ค่ำ พระพุทธศาสนาล่วงแล้วได้ 2444 ได้ผูกพัทธสีมาสำเร็จบริบูรณ์

แม่ศิลาพร้อมด้วยแม่แก้ว ลูกสะใภ้พระยาวาจาวี(ชำ) ชาวเมืองชุมพรได้ถวายช้างพลายค่อม 1 เชือก เป็นพาหนะสำหรับพระอารามนี้ รวมกันสร้างอุโบสถนี้

คิดเป็นเงินตรา 10,000 เศษ ขอกุศลที่เกิดจากผลก่อสร้างนี้ จงเป็นผลสำเร็จแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายผู้ละโลกนี้ไปแล้ว ทั้งประชุมชนพร้อมทั้งฝ่ายสมณะและคฤหัสถ์

ผู้จะได้ปฏิสังขรณ์และก่อสร้างขึ้นใหม่ต่อไป ณ ภายหลัง ขอเป็นอุปนิสัยปัจจัยแด่พระนิพพานในอนาคตการเบื้องหน้าโน้นเทอญ"

          ในอดีตนั้น วัดพัฒนาราม นอกจากจะเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาของชาวสุราษฎร์ธานี และเป็นโรงพยาบาลแผนโบราณแห่งแรก ทางราชการยังกำหนดให้วัดพัฒนารามเป็นสถานีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาตั้งแต่วัดเริ่มสร้างเสร็จ มาจนถึงสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จึงได้ยกเลิกไป 

          วัดพัฒนาราม นับแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 จนถึงปี พ.ศ.2564 รวมเป็นเวลา 125 ปี วัดได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตามลำดับ วัดได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นประจำปี 2548 ซึ่งในอดีตวัดพัฒนารามเคยได้รับรางวัลวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.2507 ถ้านับเนื่องเวลาก็กว่า 41 ปี ที่ได้มารับรางวัลอีกครั้ง การพัฒนาวัดมิได้เน้นแต่วัตถุหรือการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการพัฒนาด้านการศึกษาของสงฆ์และขยายไปสู่การจัดการศึกษาเพื่อชุมชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาแพทย์แผนไทยหรือการร่วมจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านชุมชนหน้าด่าน นอกจากนี้ ทางวัดพัฒนารามยังได้ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และบุคคลทั่วไป ด้วยการจัดตั้งโครงการขยายห้องเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาเขตนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันได้เปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี 3 สาขา คือ สาขาศาสนาและสาขาการจัดการเชิงพุทธ และสาขารัฐศาสตร์ บริหารรัฐกิจ และหลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์(ปบ.ส.)

ทรัพย์สิน

  •           พระอุโบสถ กว้าง 13 เมตร ยาว 17 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2444 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนแบบชั้นเดียว บูรณะเมื่อปี พ.ศ.2546
  •           ศาลาการเปรียญ กว้าง 25 เมตร ยาว 43เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2522 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ทรงไทยมีมุขยื่น 2 ด้าน
  •           กุฏิสงฆ์  จำนวน 41 หลัง สร้างด้วยไม้ จำนวน 19 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ครึ่งตึกครึ่งไม้ จำนวน 5 หลัง
  •           กุฏิเจ้าอาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ.2527 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 
  •           ศาลาบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 3 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 
  •           หอระฆัง กว้างด้านละ 3.50 เมตร ทรงสีเหลืองสูง ยาว 4.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2453 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน บูรณะเมื่อ ปี พ.ศ.2556
  •           กุฏิหลวงพ่อพัฒน์ กว้าง 13.90 เมตร ยาว 19.20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2439 เป็นอาคารไม้ทรงไทย 2 ชั้น
  •           โรงครัว จำนวน 1 หลัง กว้าง 15.90 เมตร ยาว 30.30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2440 เป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ บูรณะเมื่อปี พ.ศ.2517 และปี พ.ศ.2542
  •           หอไตรกลางน้ำ กว้างด้านละ 6 เมตร บูรณะเมื่อ พ.ศ.2543 เป็นอาคารไม้ทรงไทยชั้นเดียว
  •           ห้องสมุด กว้าง 16 เมตร ยาว 25 เมตร บูรณะเมื่อ พ.ศ.2508 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น

เสนาสนะที่สร้างใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา

  •           กุฏิพัฒนานุสรณ์ 1 สร้างเมื่อ พ.ศ.2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
  •           กุฏิพัฒนานุสรณ์ 2 สร้างเมื่อ พ.ศ.2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
  •           หอพักอุบาสิกา แบบอาคารทรงไทยปั้นหยา สร้างเมื่อ พ.ศ.2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
  •           พัฒนานุสรณ์ 3 สร้างเมื่อ พ.ศ.2546 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
  •           กุฏิพัฒนานุสรณ์ 4 สร้างเมื่อ พ.ศ.2546 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
  •           กุฏิพัฒนานุสรณ์ 5 สร้างเมื่อ พ.ศ.2547 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
  •           พัฒนานุสรณ์ 6 (อาคารผู้มีพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) สร้างเมื่อ พ.ศ.2547 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น
  •           พัฒนานุสรณ์ 7 (อาคารบุญธรรมสภา) สร้างเมื่อ พ.ศ.2549 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น
  •           พัฒนานุสรณ์ 8 สร้างเมื่อ พ.ศ.2554 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว

ปูชนียวัตถุ 

          1.พระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา ขนาดหน้าตัก กว้าง 34 นิ้ว สูง 47 นิ้ว

          2.พระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน ปางอุ้มบาตร ศิลปะสมัยสุโขทัย ขนาดส่วนสูง 62 นิ้ว ประดิษฐานในพระอุโบสถ

          3.พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ขนาดส่วนสูง 42 นิ้ว ประดิษฐานในพระอุโบสถ

          4.พระประธานในศาลาการเปรียญ ขนาดหน้าตักกว้าง 62 นิ้ว สูง 82 นิ้ว

          5.หลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.60 เมตร ประดิษฐานในศาลาหน้าโรงครัว

          6.รูปหล่อทองเหลืองขนาดเท่าองค์จริง หลวงพ่อพัฒน์ นารโท ประดิษฐานในมณฑปหลวงพ่อพัฒน์

           7.รูปหล่อทองเหลืองขนาดเท่าองค์จริง พระศรีปริยัตโยดม ( จันทร์ เขมจารี ป.ธ.9 ) อดีตเจ้าอาวาส ประดิษฐานในมณฑปหลวงพ่อพัฒน์

          8.พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขนาดส่วนสูง 2.40 เมตร วัดรอบฐาน 3.20 เมตร ประดิษฐานหน้าอาคารบุญธรรมสภาพัฒนานุสรณ์ 7

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

         วัดพัฒนาราม จัดให้มีการแสดงธรรมประจำทุกวันธัมมัสวนะ และประกอบพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จัดให้มีการปฏิบัติธรรม การบรรยายธรรมเป็นกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันสำคัญทางศาสนา และในวันสำคัญที่ราชการกำหนดให้เป็นวันหยุด อำนวยความสะดวกให้แก่สถานศึกษาต่าง ๆ นำนักเรียนเข้าค่ายอบรมพุทธบุตร ทางราชการกำหนดให้วัดพัฒนารามเป็นศูนย์อบรมคุณธรรม จริยธรรม แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จัดให้มีการแสดงธรรมในงานศพเป็นประจำทุกเดือน ตามโครงการวัดเข้มแข็ง ปัจจุบันวัดพัฒนาราม ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 9 

การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์

          วัดพัฒนาราม จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลี ดำเนินการเปิดโครงการขยายห้องเรียนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มาที่วัดพัฒนาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี สนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาในสถาบันศึกษาเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เรียนและสอบธรรมศึกษา ตามโครงการคุรุธรรมทายาท โดยทางวัดสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้พระภิกษุภายในวัดเข้าไปสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามโครงการพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มอบทุนการศึกษาในสถาบันกสรศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นประจำทุกปี

การบริหารและการปกครอง

          ปัจจุบันวัดพัฒนารามมีพระศรีปริยัตยาภรณ์ (กลีบ วรปญฺโญ ป.ธ.9) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองพระภิกษุ สามเณร โดยยึดหลักพระธรรมวินัยและกฎระเบียบของมหาเภรสมาคมทุกประการ นอกจากนั้นทางวัดได้จัดการบริหารวัดในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารวัดในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารวัด โดยคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระภิกษุทางคุณวุฒิภายในวัด การบริหารได้มอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสแผนกต่าง ๆเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

ลำดับเจ้าอาวาสจากอดีต - ปัจจุบัน

               รูปที่ 1 พระอุปัชฌาย์พัฒน์       นารโท                       พ.ศ.2439     ถึง  พ.ศ.2485

               รูปที่ 2 พระอธิการเจียม           สิริสุวณฺโณ                  พ.ศ.2485     ถึง  พ.ศ.2490

               รูปที่ 3 พระภิญโญ                 ฐิตวณฺโณ รักษาการ        พ.ศ.2490     ถึง  พ.ศ.2492

               รูปที่ 4 พระศรีปริยัตโยดม        ( จันทร์ เขมจารี ป.ธ.9 )   พ.ศ.2492     ถึง  พ.ศ.2541

               รูปที่ 5 พระศรีปริยัตยาภรณ์     ( กลีบ วรปญฺโย ป.ธ.9 )   พ.ศ.2542     ถึง  ปัจจุบัน

 

 

 

ข้อมูล : ประวัติพระอารามหลวง 

ภาพ :  หัสยา  พันธุ์มณี, จารุวัฒน์ กิตติธิรางกูร           

วีดีโอ : หัสยา  พันธุ์มณี


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 514,722