วัดธรรมบูชา

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด        

          วัดธรรมบูชา  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 143/1 ถนนชนเกษม ตำบลตลาด อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2447 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 เดือนมิถุนายน พ.ศ.242525 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 26 เมตร ยาว 46 เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.2491 ที่ดินที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 4.5 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 1778 และ 688

          อาณาเขต        ทิศเหนือ          จดถนนไตรอนุสนธิ์

                                ทิศใต้              จดถนนเกษม

                                ทิศตะวันออก     จดถนนตลาดใหม่

                                ทิศตะวันตก       จดถนนธรรมบูชา

ประวัติความเป็นมา

          วัดธรรมบูชา ตั้งเมื่อ พ.ศ.2447  แต่เดิมประมาณ 50 ปี ก่อนสร้างวัด สถานที่แห่งนี้เป็นป่าดอน เป็นที่ฝังศพ เผาศพ ค้างศพ ของนักโทษที่ถูกประหาร เป็นที่รกชัฏเงียบสงัดวังเวง ปราศจากผู้คน ต่อมาทิดปลื้ม(สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) ซึ่งเป็นชาวบ้านในละแวกนั้น ได้สร้างศาลาหลังคามุงจากไว้ 2 หลัง สำหรับเป็นศาลาสวดพระอภิธรรม ต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่งไม่ปรากฏนามมาอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ชาวบ้านนิมนต์ให้อยู่ประจำและสร้างขึ้นเป็นวัดใช้ชื่อว่า "วัดดอนเลียบ" พร้อมกับสร้างกุฏิหลังเล็ก ๆ ให้ท่านอาศัย ท่านได้อยู่ฉลองศรัทธาพุทธบริษัทระยะหนึ่งก็ลาสิกขา ต่อมา พระปลอดซึ่งเป็นพระธุดงค์ได้เข้ามาอยู่อาศัยจนกระทั่งมรณภาพ หลังจากนั้นวัดก็รกร้างว่างพระสงฆ์อยู่ระยะหนึ่ง

          ลุถึงปี พ.ศ.2448 มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ พระกรับ ญาณวีโร เป็นชาวจังหวัดพัทลุง อุปสมบทที่วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา และไปอยู่ที่วัดมเหยงคณ์ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมกับพระติดตามอีก 2 รูป ได้เดินธุดงค์ผ่านมาเห็นสภาพของป่าช้าดอนเลียบหรือวัดดอนเลียบแล้วก็รู้สึกพอใจ ท่านทั้ง 3 เป็นพระนักวิปัสสนาธุระจวบวันเข้าพรรษา ท่านทั้ง 3 ก็อยู่จำพรรษา ณ วัดดอนเลียบแห่งนี้ ชาวบ้านประมาณ 40 - 50 คน ช่วยกันแผ้วถางปรับปรุงบริเวณนั้นให้เป็นวัด เมื่อปรับปรุงพัฒนาพอเป็นหลักเป็นฐานพอสมควรแล้วจึงได้ขอตั้งวัด และขอเปลี่ยนชื่อวัดต่อเสนาบดีมหาดไทย ซึ่งสมัยนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังเป็นกรมหลวงดำรงตำแหน่งนี้ ขณะนั้นกำลังเสด็จตรวจราชการทางมณฑลภาคใต้ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดดอนเลียบให้ใหม่เป็นวัดธรรมยุติการาม พระกรับ(จวงวางกรับ ปาสิต)ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้อยู่ 4 ปี ร่วมกับเจ้าจอมพิณศรี สุพรรณศรี(พิณ ณ นคร) ในรัชกาลที่ 5 นางศรีสุพรรณดิส(งิ้ว ณ นคร) นางชำนาญ พินิจคงคา(สิน แซ่หลี) คุณนายเกตุ นาฮก นางตรึก สุวรรณกูล นายแดงนุ้ย และทายกทายิกาอีกหลายท่าน

          ในปี พ.ศ.2452 พระมหาวันเปรียญธรรม 8 ประโยค ได้เดินธุดงค์มาพักอาศัย พระกรับจึงได้มอบภาระทั้งหมดให้พระมหาวัน และท่านก็เดินทางกลับเมืองนครศรีธรรมราช และเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และได้อยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งลาสิกขา เมื่อลาสิกขาแล้วได้ไปรับราชการในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงรับรายงานและทรงเห็นชื่อวัดว่า "ธรรมยุติการาม" ก็ไม่ทรงพอพระทัย โดยดำริว่า ชื่อวัดนี้เป็นการเฉพาะหมู่เฉพาะคณะเท่านั้น ไม่เหมาะแก่สาธารณะ จึงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาดำรงฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็น "วัดธรรมบูชา" และได้ใช้ชื่อวัดว่า "ธรรมบูชา" ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2490 ท่านพระครูโยคาธิการวินิตก็มรณภาพ

          ในปี พ.ศ.2490 พระธรรมวิโรจน์เถร(พลับ) ในสมัยนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูศาสนภารพินิจ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ปรับปรุงพัฒนาวัดตามลำดับ จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกฐานะวัดนี้เป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงรูปแรกและดำรงตำแหน่งเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตรูปแรกด้วย จนกระทั่งถึง พ.ศ.2498 ท่านก็มรณภาพ

          ต่อมา พ.ศ.2499 พระธรรมธัชมุนี(แสง ชูตินุธโร ป.ธ.5) ในสมัยนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระโชติธรรมวราภรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี(ธรรมยุต) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 ถึง 2537 ท่านได้ปรับปรุงพัฒนาวัดให้เจริญขึ้นตามลำดับ

ทรัพย์สิน

  •           พระอุโบสถ กว้าง 18 เมตร ยาว 34 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2413 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย
  •           ศาลาการเปรียญ กว้าง 40 เมตร ยาว 28เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2496 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทรงไทยประยุกต์
  •           กุฏิสงฆ์  จำนวน 26 หลัง สร้างด้วยไม้ จำนวน 6 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กจำนวน 7 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้จำนวน 13 หลัง
  •           กุฏิเจ้าอาวาส จำนวน 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ.2524 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว
  •           ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 3 หลังสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
  •           ฌาปณสถาน กว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2507 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
  •           หอระฆัง กว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2530 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
  •           โรงครัว จำนวน 1 หลัง กว้าง 20 เมตร ยาว 45 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2514 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
  •           โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 1 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น

ปูชนียวัตถุ 

          1.พระประธาน ภปร. ขนาดหน้าตัก 5 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว ประดิษฐานในพระอุโบสถซึ่งพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททอง เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2523 ณ วัดบรมนิเวศ

          2.รูปหล่อทองเหลืองขนาดเท่าองค์จริง พระครูโยคาธิการวินิต(หลวงพ่อทอง)

          3.รูปหล่อทองเหลืองขนาดเท่าองค์จริง พระธรรมวิโรจน์เถร(พ่อท่านพลับ)

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา

          1. ทางวัดได้จัดให้มีการแสดงธรรม ในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดถึงประกอบกิจกรรมเวียนเทียนในวันสำคัญด้วย

           2. จัดให้การแสดงธรรมและอบรมกรรมฐานช่วงเวลา 18.00 - 19.30 น. ตลอดทั้งปี

          3. ให้พระสงฆ์ออกไปบรรยายธรรมในสถานศึกษาและหน่วยงานราชการตามโอกาส

          4. จัดให้มีการบวชธรรมจาริณี ในช่วงเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบัน

      การศึกษาและการสาธารณสงเคราะห์

          1. จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกธรรมศึกษา

           2. จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี จนมีผู้สอบได้ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค ในสำนัก

          3. จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา

          4. ดำเนินการเปิดห้องเรียนทั้งภาคปกติและภาคสนาม ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช สาขาสุราษฎร์ธานี

          5. ให้ทุนการศึกษาแก่สถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

การบริหารและการปกครอง

          1. การบริหารได้มอบหมายให้ผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในแผนกงานต่างๆ

          2.การปกครอง ได้ดำเนินนโยบายแบบพ่อปกครองลูก โดยยึดหลักธรรม - วินัย เป็นมาตรฐานพร้อมกับวางกฎกติกาบางส่วนเพิ่มเติมด้วย

ลำดับเจ้าอาวาสจากอดีต - ปัจจุบัน

               รูปที่ 1 พระกรับ  ญาณวีโร                         พ.ศ.2448  ถึง  พ.ศ.2452

               รูปที่ 2 พระมหาวัน  ป.ธ.8                          พ.ศ.2452  ถึง  พ.ศ.2454

               รูปที่ 3 พระครูโยคาธิการวินิต (ทอง)               พ.ศ.2454  ถึง  พ.ศ.2490

               รูปที่ 4 พระธรรมวิโรจน์เถระ (พลับ)                พ.ศ.2490  ถึง  พ.ศ.2498

               รูปที่ 5 พระธรรมธัชมุนี (แสง  ชุตินุธโร)            พ.ศ.2499  ถึง  ปัจจุบัน

 

 

 

ข้อมูล : ประวัติพระอารามหลวง 

ภาพ :  หัสยา  พันธุ์มณี, จารุวัฒน์ กิตติธิรางกูร           

วีดีโอ : หัสยา  พันธุ์มณี


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 395,782